ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์บทเรียนออนไลน์ รายวิชา ประวัติศาสตร์ 4 รหัสวิชา ส33106 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  
     
 
 
 
หน่วยที่ 5 ภูมิปัญญาด้านการรักษาโรค

5.2 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทย

พื้นฐานด้านความรู้ทางการแพทย์ของไทยนั้น มาจากประเทศอินเดีย การรักษาตามแบบแพทย์แผนไทยนั้น มีการผสมผสานด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์ศาสนาที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย เช่น การรำผีฟ้า หรือข้อห้ามต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์ จนถึงคลอด

การแพทย์ของไทยตั้งแต่โบราณแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับการแพทย์พระมหากษัตริย์ หรือผู้ปกครองทำเพื่อประชาชน เป็นการแสดงถึงความห่วงใยในสุขภาพของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประชาชน และระดับการรักษาของประชาชนสามัญ

1. สมัยก่อนกรุงสุโขทัย

สมัยก่อนกรุงสุโขทัย มีการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรค ปรากฏในจารึกสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พุทธศตรวรรษที่ 18 โดยมีการสร้างอโรคยาศาลาที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์ทางด้านการแพทย์ของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน อีกทั้งในสมัยทวารวดี มีการพบ "หินบดยา" สำหรับใช้เป็นที่บดยา



ภาพที่ 5.2-1 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทยสมัยก่อนกรุงสุโขทัย


2. สมัยสุโขทัย

สมัยสุโขทัย มีการรักษาแบบไสยศาสตร์ โดยมีการค้นพบตุ๊กตาเสียกบาล ซึ่งเป็นการบวงสรวงเซ่นสังเวยต่อภูมิผีปีศาจ เพื่อสะเดาะเคราะห์แทนผู้ป่วย เมื่อกระทำพิธีเสร็จแล้วจะต่อยหัวตุ๊กตาให้แตก ผู้ป่วยก็จะหายจากโรคนั้น และยังมีการรักษาทางกายด้วยการใช้สมุนไพรควบคู่ไปกับการักษาทางใจด้วยไสยศาสตร์



ภาพที่ 5.2-2 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทยสมัยสุโขทัย


3. สมัยอยุธยา

สมัยอยุธยา ลาลูแบร์ บันทึกการเจ็บป่วยของชาวกรุงศรีอยุธยาไว้ว่าหลายโรค เช่น บิด ไข้จับสั่น โรคผิวหนัง รวมทั้งโรคที่เชื่อว่าเกิดจากภูตผีปีศาจ พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาตั้งกรมหมอหลวง และรวบรวมตำรับยาไว้เพื่อเป็นแบบแผน การรักษาภายในกรุงศรีอยุธยายังคงนิยมใช้สมุนไพรเป็นตัวยาสำคัญ ซึ่งมีปรากฏชื่อ "ป่ายา" เป็นสถานที่ขายยาสมุนไรภายในกรุงศรีอยุธยา หมอรักษาโรคต่าง ๆ นอกจากนั้น



ภาพที่ 5.2-3 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทยสมัยอยุธยา



วิดีทัศน์ที่ 5.2-1 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทยสมัยอยุธยา


4. สมัยธนบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3)

สมัยธนบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3) ในสมัยธนบุรีต้องทำศึกสงครามตลอด จึงไม่มีการรวบรวมวิทยาการความรู้ที่สูญหายไปเมื่อคราวเสียกรุง ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้จารึกความรู้ด้านหมอนวดแผนไทย ฤาษีดัดตน วิธีการรักษาโรค ตำรายาไทย ไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้จารึกสรรพวิชาต่าง ๆ ลงบนแผนหินอ่อนประดับไว้ตามศาลารายภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บุคคลสำคัญด้านการแพทย์ที่สำคัญในสมัยนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงกำกับกรมหมอ และรวบรวมตำราโบราณไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตำราสมุนไพร ปลายรัชกาลที่ 3 มิชชันนารีได้นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาในประเทศ เช่น การผ่าตัด การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ



ภาพที่ 5.2-4 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทยสมัยธนบุรี ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1-3)



วิดีทัศน์ที่ 5.2-2 ลักษณะไทย ตอนที่ 473 : ความเป็นมาของฤาษีดัดตน | 17 เม.ย. 60 | ThairatTV



วิดีทัศน์ที่ 5.2-3 ลักษณะไทย ตอนที่ 474 : ประโยชน์ของการดัดตน | 18 เม.ย. 60 | ThairatTV

5. สมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน

สมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลศิริราช เมื่อ พ.ศ.2430 เปิดการรักษา และสอนวิชาแพทย์แบบตะวันตก ควบคู่ไปกับแพทย์แผนไทย การรักษาแบบตะวันตกได้รับความนิยมในหมู่ราษฎรเมืองหลวงมากขึ้น เนื่องจากยาฝรั่ง (ยาแผนปัจจุบัน) กินง่าย มีประสิทธิภาพ แต่ในชนบท ราษฎรทั่วไปยังนิยมการรักษาแบบเดิมอยู่ ช่วงระยะหลังจนถึงปัจจุบันมีการใช้พืชสมุนไพรรักษาควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากไม่มีผลข้างเคียงทางเคมีสูงกว่ายาแผนปัจจุบัน



ภาพที่ 5.2-5 พัฒนาการด้านการรักษาโรคของไทยสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน

    ภาพที่
    อ้างอิงแหล่งที่มา
    5.2-1
    5.2-2
    5.2-3
    5.2-4
    5.2-5

    วิดีทัศน์ที่
    อ้างอิงแหล่งที่มา
    5.2-1
    5.2-2
    5.2-3