ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์บทเรียนออนไลน์ รายวิชา ประวัติศาสตร์ 4 รหัสวิชา ส33106 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  
     
 
 
 
หน่วยที่ 3 ภูมิปัญญาด้านอาหาร

3.2 วัฒนธรรมข้าว

ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และมีความสำคัญเชื่อมโยงไปถึงความเชื่อ และขนบประเพณี จะเห็นได้จากตำนานเรื่องข้าว และหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับข้าว วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับการปลูกข้าว ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ วิธีการผลิต การประกอบพิธีกรรม ตลอดจนการนำข้าวไปประกอบอาหารต่าง ๆ

1. การบริโภคข้าว

การบริโภคข้าว คนไทยบริโภคข้าว เป็นอาหารหลัก ทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว กรรมวิธีในการหุงข้าวนั้น นำเมล็ดข้าวพร้อมน้ำใส่ในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปเผา ที่เรียกว่า “หลามข้าว” หลังจากนั้นมีการคิดค้นนำวัสดุอื่นมาทำเป็นหม้อหุงข้าว คนไทยยังรู้จักนำข้าวไปดัดแปลงแปรรูปเพื่อการบริโภค และใช้ประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น อาหารว่าง ขนม แปรรูปเป็นแป้ง และสุรา (สาโท)



ภาพที่ 3.2-1 การปลูกข้าว

2. พิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าว

พิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าว การที่คนไทยบริโภคข้าวเป็นหลัก นำไปสู่การประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนเก็บเกี่ยวเสร็จ เนื่องจากการเพาะปลูกยังคงต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลักจนกลายเป็นประเพณีบวงสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา พิธีเกี่ยวกับการปลูกข้าว มีทั้งพิธีของชนชั้นปกครอง และของชาวบ้าน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการเพาะปลูก เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต พิธีกรรมมีดังนี้

ก. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีหลวง ที่จัดขึ้นในช่วงก่อนฤดูทำนาในแต่ละปี เป็นการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ กับพระพุทธศาสนา เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจให้ราษฎรในการปลูกข้าว แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง



วิดีทัศน์ที่ 3.2-1 ร้อยเรื่องเมืองไทย - พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ข. พิธีแรกนา ชาวนาในทุกภูมิภาคของไทย จะต้องประกอบพิธีบูชาเทวดา เจ้าที่เจ้านา บรรพบุรุษ และแม่โพสพ ทั้งนี้เพื่อเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก สำหรับล้านนามีพิธีแฮกนา คือ ต้องเริ่มหว่านกล้า และปักดำเป็นครั้งแรกในบริเวณที่กำหนดไว้ ส่วนภาคอีสานจะมีพิธีเลี้ยงตาแฮก คือ เทวดาผู้รักษาที่นาของแต่ละครัวเรือน ก่อนการเพาะปลูกเจ้าบ้านต้องนำเครื่องเซ่นไปอธิษฐานที่ศาลตาแฮก ซึ่งเป็นเขตปลูกข้าวเสี่ยงทาย ถ้าข้าวในเขตนี้เติบโตแข็งแรง ก็แสดงว่าการทำนาจะได้ผลดี

ค. พิธีกรรมต่อเนื่อง เช่น พิธีทำขวัญข้าว เมื่อข้าวตั้งท้อง พิธีไล่น้ำ คือ บวงสรวงให้เทพดลบันดาลให้ระดับน้ำที่ท่วมสูง และลดต่ำลงโดยเร็ว จะได้เก็บเกี่ยวรวงข้าวที่แก่เข้ายุ้ง หลังจากนั้นจะมีพิธีรับขวัญข้าว และจบสิ้นฤดูกาลทำนาด้วยพิธีเผาซังข้าว



วิดีทัศน์ที่ 3.2-2 พิธีทำขวัญข้าว

ประเพณีเกี่ยวกับการขอฝน การทำนาต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติ คือ น้ำฝน เพื่อให้ข้าวที่ปลูกเจริญงอกงามดี ซึ่งชาวนาไทยในภาคต่าง ๆ มีชื่อเรียกและพิธีกรรมแตกต่างกันไป ได้แก่ ภาคกลาง ประเพณีที่สำคัญ เช่น การแห่นางแมวขอฝน ภาคเหนือ เช่น การแห่ปลา การแห่พระเจ้าฝนแสนห่า ภาคอีสาน เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ และพิธีเต้านางแมว (แห่นางแมว)



วิดีทัศน์ที่ 3.2-3 ร้อยเรื่องเมืองไทย - บุญบั้งไฟ

    ภาพที่
    อ้างอิงแหล่งที่มา
    3.2-1

    วิดีทัศน์ที่
    อ้างอิงแหล่งที่มา
    3.2-1
    3.2-2
    3.2-3