ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์บทเรียนออนไลน์ รายวิชา ประวัติศาสตร์ 4 รหัสวิชา ส33106 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  
     
 
 
 
หน่วยที่ 3 ภูมิปัญญาด้านอาหาร

3.5 อาหารถิ่น

อาหารถิ่น อาหารคาวหวานในสำรับของแต่ละภูมิภาคสะท้อนถึงการใช้ภูมิปัญญาในการเลือกสรรปรุงแต่ง การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับฤดูกาล มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

1. อาหารภาคกลาง

อาหารภาคกลาง อาหารหลักเป็นข้าวกับปลา ผักพื้นบ้าน และผักน้ำต่าง ๆ มีกรรมวิธีการปรุง และเครื่องปรุงที่แตกต่างกันออกไป และค่อย ๆ เพิ่มการรับประทานอาหารต่างชาติเข้ามามากขึ้น อาหารสำคัญ เช่น น้ำพริกกะปิ ผักจิ้ม ต้มยำ แกงเลียง รสชาติมีครบทั้ง 5 รส (เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ดร้อน)



ภาพที่ 3.5-1 อาหารภาคกลาง

2. อาหารภาคอีสาน

อาหารภาคอีสาน เนื่องจากภูมิประเทศค่อนข้างกันดาร สัตว์ใหญ่หาได้ยาก กับข้าวอีสานใช้ปลาต่าง ๆ สับละเอียดใส่เครื่องเทศสด เพื่อดับกลิ่น จิ้มรับประทานพร้อมผักสด และผักดอง เช่น ลาบก้อย พล่า ปลาร้าสับกับผักจิ้ม ต้มส้ม นิยมทานข้าวเหนียว เครื่องปรุง ไม่ใช้กะทิ รสชาติอาหารอีสานจะหนักไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว



ภาพที่ 3.5-2 อาหารภาคอีสาน

3. อาหารภาคเหนือ

อาหารภาคเหนือ วัฒนธรรมการบริโภคที่สำคัญ คือ งานขันโตก กับข้าว เช่น น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม กับผักจิ้ม ไส้อั่ว แหนม แกงฮังเล ข้าวซอย แคบหมู เครื่องปรุง เช่น น้ำปู๋ (น้ำปู) ข้าวคั่ว รสชาติอาหารจะนิยมรสอ่อนไม่หวาน ค่อนข้างมัน แต่น้ำพริกจะเผ็ด และเค็ม ส่วนอาหารไม่นิยมใช้กะทิ



ภาพที่ 3.5-3 อาหารภาคเหนือ

4. อาหารภาคใต้

อาหารใต้ กับข้าวหลัก คือ แกงเหลือง แกงไตปลา คั่วกลิ้ง น้ำพริกต่าง ๆ รับประทานกับผักจิ้ม มีทั้งผักสด ผักดอง ผักต้มกะทิ อาหารทะเลต่าง ๆ รวมทั้งข้าวยำ เครื่องปรุง เช่น น้ำบูดู ผงขมิ้น เป็นต้น อาหารส่วนใหญ่มีรสเค็ม เผ็ดจัด และใส่ผงขมิ้น แต่บางแห่งก็นิยมรสหวานด้วย



ภาพที่ 3.5-4 อาหารภาคใต้

จะเห็นได้ว่าอาหารหลักของคนไทยทุกท้องถิ่น คือ น้ำพริก ซึ่งรับประทานกับผักต่างๆ ผักเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านที่ขึ้นอยู่เองในท้องถิ่นนั้น ๆ ผักพื้นบ้านเหล่านี้นับว่ามีคุณค่าด้านสารอาหารเป็นอย่างมาก ช่วยบำรุงสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วย

ภาพที่
อ้างอิงแหล่งที่มา
3.5-1
3.5-2
3.5-3
3.5-4