1.2 สาเหตุของการเกิดภูมิปัญญาไทย
- ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต คือ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม หรือนำสิ่งที่อยู่รอบตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต คือปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ทั้งหมดคือสิ่งที่มนุษย์ต้องมีเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
- ความเชื่อ และระบบความสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถหาคำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เช่น บางปีน้ำท่วม บางปีฝนแล้ง มนุษย์จึงยกให้ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลทั้งด้านดี และด้านร้ายให้แก่มนุษย์ มนุษย์จึงนำความเชื่อมาพัฒนาเป็นลัทธิศาสนา และกระบวนการคิดที่ซับซ้อน เป็นที่มาของการพัฒนาการทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม
- ความเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอาชีพ มีการพัฒนาของอาวุธจากขวานหิน มาเป็นขวานโลหะเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาอาหารเพื่อเอาตัวรอด ส่วนการเพาะปลูก ก็มีการคิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีในการเพาะปลูก การติดต่อแลกเปลี่ยน เป็นระบบการค้า ระบบเศรษฐกิจ
- การตอบสนองอารมณ์สุนทรี เมื่อมนุษย์มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเริ่มมีการแสดงออกทางศิลปะ เช่น การเขียนภาพสีต่าง ๆ อาจใช้เพื่อประกอบพิธีกรรม หรือต้องการเล่าประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับศาสนา
- การประยุกต์รับอิทธิพลจากภายนอก การแลกเปลี่ยนถ่ายทอดวัฒนธรรมจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยตลอดเวลา สาเหตุคือการติดต่อค้าขาย อพยพโยกย้าย การสมรสของคนต่างกลุ่ม การเลียนแบบ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะรับมา มีการเลือกว่ามีความเหมาะสมกับกลุ่มของตนอย่างไรโดยไม่ได้ขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน
ภาพที่ 1.2-1 ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต
ภาพที่ 1.2-2 ลอยเรืออารีปาจั๊ก
ภาพที่ 1.2-3 เครื่องมือยุคโลหะ
ภาพที่ 1.2-4 ภาพเขียนสีผาแต้ม
ภาพที่ 1.2-5 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ