1.3 ลักษณะของภูมิปัญญาไทย
ประเทศไทยในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีความสำคัญมาช้านาน เนื่องจากสภาพที่ตั้ง ที่อยู่ในเขตเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก และทางทะเล ระหว่างชาติตะวันออก และชาติตะวันตก ผู้คนที่มาตั้งถิ่นฐานนั้นต่างชาติพันธุ์ เช่น ไทย จีน มอญ เขมร ไทยใหญ่ แขก กลุ่มชนเหล่านี้ได้มาอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาตามความเชื่อของตน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข ภูมิปัญญาไทยสามารถจำแนกตามลักษณะได้เป็น 2 กลุ่ม กว้าง ๆ คือ
- ภูมิปัญญาที่เป็นนามธรรม
- ภูมิปัญญาที่เป็นรูปธรรม
1. ภูมิปัญญาที่เป็นนามธรรม
ภูมิปัญญาที่เป็นนามธรรม คือ ความรอบรู้ที่เป็นเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม ที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นบ่อเกิดรากฐานของการสร้างสรรค์สิ่งที่จับต้องได้ ภูมิปัญญาที่เป็นนามธรรมในสังคมไทย ได้แก่
- คติความเชื่อ ความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยจะเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งที่เหนือธรรมชาติแบบสังคมเกษตรกรรม เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ในยุคแรกที่สำคัญเช่น แม่โพสพ (ข้าว) ผีฟ้าพญาแถน (ฝน) เป็นต้น ความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงยึดถือมาถึงปัจจุบัน คือ เรื่องไสยศาสตร์ โชคลางฤกษ์ยาม
- โลกทัศน์ด้านจักรวาล เป็นการพัฒนาจากคติความเชื่อในสังคมเกษตรผสมผสานกับอิทธิพลแนวคิดจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างสรรค์ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลและโลก
- โลกทัศน์ด้านพระพุทธศาสนา เช่น ความเชื่อในเรื่องของบุญ กรรม การเวียนวายตายเกิด สิ่งที่ชาวพุทธถือปฏิบัติ คือ การทำบุญเพื่อให้ได้เกิดใหม่ในภพภูมิที่ดี
- ข้อห้าม และข้อปฏิบัติ เช่น ในการประกอบอาชีพ และการอยู่ร่วมกันในสังคมล้วนมีข้อบัญญัติที่ควรทำ และห้ามทำทั้งในระดับบุคคล และส่วนรวม หากไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติจะเกิดผลร้ายที่รุนแรง
ภาพที่ 1.3-1 ประเพณีการทำขวัญข้าว
วิดีทัศน์ที่ 1.3-1 ประเพณีการทำขวัญข้าว
ภาพที่ 1.3-2 พระพรหมผู้สร้างโลก
ภาพที่ 1.3-3 ความเชื่อในเรื่องของบุญ กรรม การเวียนวายตายเกิด
ภาพที่ 1.3-4 ข้อห้ามในวันตรุษจีน
2. ภูมิปัญญาที่เป็นรูปธรรม
ภูมิปัญญาที่เป็นรูปธรรม คือ การนำคติความเชื่อซึ่งเป็นนามธรรม มาทำให้เป็นรูปร่าง เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมในการบูชาตามความเชื่อ และยังเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมแสดงถึงภูมิปัญญาของคนในชุมชนต่าง ๆ เช่น
- อาคาร เริ่มจากการหาแหล่งที่อยู่อาศัย สร้างที่พักอาศัยด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เช่น เรือนไทยที่สร้างจากไม้ยกใต้ถุนสูง เพื่อป้องกันน้ำ และสัตว์
- อาหาร ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การผลิตข้าว และนำข้าวมาบริโภค เป็นอาหารหลัก และนำมาแปรรูปเป็นขนม การรู้จักการถนอมอาหารทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้
- เครื่องมือเครื่องใช้ ภูมิปัญญาไทยด้านการสร้างสรรค์ภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ พบหลักฐานทางโบราณคดีในยุคต่าง ๆ ซึ่งผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้นำมาประดิษฐ์ ใช้ประโยชน์ บางอย่างยังคงใช้ประโยชน์ในรูปแบบดั้งเดิม เช่น หม้อข้าวดินเผา เครื่องจักรสานต่าง ๆ เบ็ดตกปลา มีดพร้า
- พาหนะ คนไทยรู้จักการนำเครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ มาใช้ในการเดินทาง และบรรทุกสิ่งของ เช่น ม้า วัว ควาย ช้าง สำหรับเดินทางทางบก ส่วนทางน้ำใช้แพ เป็นต้น พาหนะแต่ละอย่างจะมีรูปทรงต่าง ๆ ตามประโยชน์การใช้สอย และมีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม โดยเฉพาะราชพาหนะ
- งานฝีมือ คนไทยมีฝีมือประณีตสวยงามไม่แพ้ชาติใด งานประดิษฐ์ในราชสำนัก และถวายเป็นพุทธบูชา งานฝีมือมีหลายประเภท เช่น การวาดภาพ การแกะสลักไม้ หิน ไปจนถึงผักผลไม้ งานปั้น งานทอผ้า งานร้อยกรองดอกไม้ เป็นต้น มรดกงานฝีมืออีกกลุ่ม คือ งานประณีตศิลป์ เช่น เครื่องถม ลายรดน้ำ ลายประดับมุก
- รูปเคารพ คือ สัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นเพื่อการเคารพบูชาและการประกอบพิธีกรรม ในระยะแรกจะเป็นรูปเคารพของความอุดมสมบูรณ์ เช่น หุ่นฟางแทนแม่โพสพ เมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย รูปเคารพของเทพเจ้า พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ จึงเป็นหลักฐานของประวัติศาสตร์ศิลป์
ภาพที่ 1.3-5 เรือนไทยภาคใต้
ภาพที่ 1.3-6 อาหารการกินภาคเหนือ
ภาพที่ 1.3-7 งานหัตถกรรม
ภาพที่ 1.3-8 เกวียนไม้
ภาพที่ 1.3-9 การแกะสลักผลไม้
ภาพที่ 1.3-10 เทพเจ้ากวนอูปางบู๊ท่ายืนจับดาบถือง้าว