3.3 ประเภทของอาหาร และวิธีการบริโภคอาหาร
1. ประเภทของอาหาร
สำหรับประเภทของอาหาร จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- อาหารคาว
- อาหารหวาน หรือของหวาน
อาหารคาว ตามบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า คนไทยรับประทานอาหารหลัก คือ ข้าว ปลา ผัก และดื่มแต่น้ำเปล่า เครื่องปรุงหลักของอาหารไทยทำจากกุ้ง และปลา ได้แก่ กะปิ ปลาร้า และจากหลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมรับประทานอาหารประเภทแกงมาตั้งแต่อยุธยา
บันทึกของพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แสดงให้เห็นว่า คนไทยมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ และรับเอาวัฒนธรรมการบริโภคอาหารจีนมาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย
พระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานของรัชกาลที่ 2 จะให้ภาพอาหารชาววังและวิธีการบริโภคของคนชั้นสูง ซึ่งมีการใช้เครื่องเทศหลายชนิด มีเทคนิคการปรุงที่ซับซ้อนกว่าเดิม และมีอิทธิพลของอาหารต่างชาติทั้งของจีน แขก ญี่ปุ่น
อาหารหวาน หรือของหวาน จะทำเนื่องในงานประเพณีท้องถิ่น เช่น ข้าวเหนียวแดง กะละแม มีในงานตรุษสงกรานต์ ขนมต้มแดง มีในพิธีพราหมณ์ เครื่องปรุงที่สำคัญ คือ แป้ง น้ำตาล และมะพร้าว
ในสมัยอยุธยามีขนมหวานที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ขนมเหล่านี้เพิ่มการใช้ไข่ในส่วนประกอบหลักของขนมไทย
วิดีทัศน์ที่ 3.3-1 อาหารไทย ครัวไทยสู่ครัวโลก
2. วิธีการบริโภค
แบบดั้งเดิม ใช้มือเปิบ (การใช้นิ้วตะล่อมข้าวเข้าปาก) สำหรับการบริโภคอาหารในหมู่ชนชั้นสูงในสังคมไทย นิโกลาส์ แชรแวส ได้กล่าวถึงการเลี้ยงรับรองแขกของชนชั้นสูงในสมัยอยุธยา ซึ่งจะจัดสำรับเฉพาะบุคคล โดยแต่ละสำรับจะมีทั้งข้าว อาหารคาวหวาน ผลไม้บรรจุภาชนะที่มีค่า
แบบใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ยกเลิกการนั่งกับพื้นรับประทาน และเปิบข้าวกิน หันมานิยมการนั่งโต๊ะอาหารรับประทานพร้อมกัน และใช้ช้อนส้อมเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรับประทาน ผู้คนทั่วไปยังคงใช้สำรับกับข้าวร่วมกัน ในภายหลังยังมีความนิยมในการรับประทานอาหารตามร้านอาหารอีกด้วย
ภาพที่ 3.3-1 การใช้มือเปิบ
ภาพที่ 3.3-2 การนั่งโต๊ะอาหารรับประทาน