3.4 อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบ และการบริโภคอาหาร
อาหารที่เป็นอาหารหลักของคนไทย คือ ข้าว อุปกรณ์ในในการหุง คือ กระบอกไม้ไผ่ หรือที่เรียกว่าการหลามข้าว ต่อมาได้มีวิวัฒนาการการใช้หม้อดิน ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
1. อุปกรณ์ภาชนะแบบโบราณ
อุปกรณ์ ภาชนะประกอบอาหารแบบโบราณ เป็นการนำวัสดุธรรมชาติ เช่น ดิน ไม้ กะลา มาผลิตเป็นภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหาร
ก. ภาชนะหุงต้ม เช่น หม้อข้าว ปั้นจากดินเหนียวแล้วนำไปเผา ลักษณะเป็นหม้อทรงสูง คอคอดก้นป่อง, หม้อแกง ปั้นจากดินเหนียวแล้วนำไปเผา ลักษณะทรงกลม รูปร่างเตี้ยและปากกว้างกว่าหม้อข้าว มีฝาปิด ขอบปากเป็นเชิงยื่นออกเพื่อป้องกันเขม่า มีหู 2 ข้าง , หวด ใช้สำหรับนึ่งอาหาร เช่น ข้าวเหนียว ห่อหมก โดยนำหวดไปตั้งสวมบนหม้อข้าวซึ่งต้มน้ำไว้จนเดือด
ข. อุปกรณ์ เช่น
- กระจ่า ทำด้วยกะโหลกมะพร้าว ด้ามทำด้วยไม้เนื้อเหนียว แกะสลักลวดลาย ใช้สำหรับตักข้าว และแกง
- ครก และสาก เป็นเครื่องบดประจำครัวไทยที่สำคัญ ส่วนใหญ่ทำด้วยหิน มีลักษณะเป็นแอ่งลึกรูปครึ่งทรงกลม ครกหินจะใช้สากหิน ครกดินเผาใช้สากไม้
- กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นอุปกรณ์พื้นฐานจำเป็นสำหรับย่อยเนื้อมะพร้าวให้เป็นฝอย เพื่อคั้นเป็นกะทิ
ภาพที่ 3.4-1 เครื่องครัว
ภาพที่ 3.4-2 กระต่ายขูดมะพร้าว
2. อุปกรณ์ภาชนะแบบปัจจุบัน
ภาชนะในสำรับอาหาร สำรับอาหารของคนไทยมีความเรียบง่าย มีเพียงถ้วยชามใส่ข้าว และอาหารพร้อมด้วยชามที่ใส่น้ำสำหรับชุบมือ เพื่อไม่ให้ข้าวติดนิ้ว สำรับกับข้าวประเภทแกง ก็จะมีอุปกรณ์สำหรับตักโดยเฉพาะ คือ ช้อนตักน้ำแกง
- ถ้วย,ชาม คนไทยรู้จักการผลิตเครื่องถ้วยชามมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยอยุธยามีการนำเข้ามาจากจีน เพราะมีลวดลายที่สวยงาม
- จานเชิง ขนาดเล็กสำหรับใส่กับข้าวคาวหวานเฉพาะบุคคล จัดบนโต๊ะเท้าเชิง (ถาดมีขา)
- ช้อน ทำจากกะลาหรือเปลือกหอยมุก เรียกว่า “ช้อนหอย” ใช้เป็นช้อนกลาง และเป็นช้อนขนมหวาน
ภาพที่ 3.4-3 จานเชิง
ภาพที่ 3.4-4 อาหารขันโตก