6.2 นโยบายอนุรักษ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน
นโยบายอนุรักษ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1. สมัยรัชกาลที่ 6
สมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้กรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่รับผิดชอบโบราณวัตถุ และออกประกาศการจัดการตรวจรักษาของโบราณ พุทธศักราช 2466 ส่วนกิจการโบราณคดีสโมสรก็ได้รับความสนใจเป็นที่แลกเปลี่ยนงานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของสยามระหว่างนักวิชาการไทย และต่างชาติ
ภาพที่ 6.3-1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. สมัยรัชกาลที่ 7
สมัยรัชกาลที่ 7 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพิพิธภัณฑ์ พุทธศักราช 2469 เป็นการรวบรวมโบราณวัตถุที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุออกนอกประเทศต้องได้รับอนุญาตจากราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
ภาพที่ 6.3-2 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. สมัยรัชกาลที่ 8
สมัยรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ.2478 ได้ออกประกาศหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโบราณวัตถุสถาน และการพิพิธภัณฑ์ไปให้กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 โดยมีเป้าหมายในการจัดระเบียบการแต่งกายและมารยาทในที่สาธารณะ ความเป็นระเบียบในการปฏิบัติ ความนิยมไทย อีกทั้งมีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีฐานเป็นกรมในกระทรวงวัฒนธรรม ให้มีหน้าที่รับผิดชอบหลัก 3 ประการ คือ 1) การศึกษา การค้นคว้าวิจัย 2) การปลูกฝังเผยแพร่ และ 3) การปกป้องคุ้มครอง
ภาพที่ 6.3-3 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
4. สมัยรัชกาลที่ 9
สมัยรัชกาลที่ 9 มีการดำเนินการจัดตั้งหน่วยงาน และประกาศใช้พระราชบัญญัติเพื่อการอนุรักษ์ คุ้มครอง และสร้างจิตสำนึกในการบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมหลายประการ
ใน พ.ศ.2512 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย พุทธศักราช 2512 เพิ่มโทษเกี่ยวกับลักษณะทรัพย์ที่ต่อเนื่องกับศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายขององค์การยูเนสโกว่าด้วยวิธีการป้องกัน การลักลอบนำเข้า นำออก และโยกย้ายสิทธิความเป็นเจ้าของสมบัติวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์
ใน พ.ศ.2522ได้มีการตราพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2522 จุดมุ่งหมายในการจัดตั้ง เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางด้านศิลปวัฒนธรรม สำหรับประสานการปฏิบัติด้านวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้เกิดประสิทธิภาพ
รัฐบาลในแต่ละสมัยได้ดำเนินงานสนับสนุนนโยบายวัฒนธรรมแห่งชาติอีกหลายประการ เช่น การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2526) การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2528) การประกาศวันอนุรักษ์มรดกไทย (พ.ศ.2529) การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น (พ.ศ.2531)
ใน พ.ศ.2545 ได้มีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2545 เพื่อให้เกิดเอกภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น
ภาพที่ 6.3-4 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร