2.5 ประเภทของเรือนไทย
ประเภทเรือนไทย เราสามารถสรุปออกมาเป็นแต่ละประเภทได้ดังนี้
1. เรือนไทยภาคกลาง
เรือนไทยภาคกลาง แบ่งออกเป็น
1.1 เรือนครอบครัวเดี่ยว เป็นเรือนขนาดเล็ก มีเรือนนอน 1 หลัง แบ่งเป็นห้องนอน และห้องโถง เรือนครัว มีการเชื่อมต่อด้วยระเบียง
1.2 เรือนครอบครัวขยาย เป็นเรือนที่พ่อแม่ปลูกให้กับลูกสาวและลูกเขย อาจอยู่ด้านข้าง หรือเป็นเอกเทศจากเรือนพ่อแม่ก็ได้
1.3 เรือนคหบดี (เรือนหมู่ขนาดใหญ่) ผู้สร้างมักมีฐานะดี ประกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนรี เรือนขวาง เรือนครัว และหอนก เรือนทุกเรือนมีการเชื่อมต่อกัน กลางชานมักเจาะเป็นช่องเพื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา
ภาพที่ 2.5-1 เรือนไทยภาคกลาง
2. เรือนไทยภาคเหนือ
เรือนไทยภาคเหนือ บริเวณภาคเหนือของไทยมีอากาศหนาวเย็น เรือนที่อาศัยมักมีชายคาที่ลาดคลุมลงมาต่ำถึงตัวเรือน การวางตัวเรือน หันข้างเรือนไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อให้ห้องนอนได้รับแสงแดด ลักษณะเด่น คือ ที่ยอดปั้นลมนิยมประดับไม้กาแลที่แกะสลักอย่างงดงาม มีชานกว้างโล่ง หลังคามุงด้วยแผ่นไม้ หรือกระเบื้องดินเผา
ภาพที่ 2.5-2 เรือนไทยภาคเหนือ
3. เรือนไทยภาคอีสาน หรือเฮือนอีสาน
เรือนไทยภาคอีสาน หรือเฮือนอีสาน มีลักษณะเป็น
3.1 เรือนกึ่งถาวร เป็นเรื่องเครื่องผูกผสมเรือนเครื่องสับ เป็นเรือนของเขยที่เพิ่งแยกตัวออกจากเรือนของพ่อแม่
3.2 เรือนตั้งต่อดิน เป็นเรือนที่มีสัดส่วนและแข็งแรงกว่าตูบต่อเล้า นิยมปลูกเป็นเรือนแฝดใต้ถุนสูง มีเรือนที่ต่อชานที่มีหลังคาคลุมต่อออกไปจากเรือนใหญ่
3.3 เรือนถาวร หรือเรือนเครื่องสับไม้จริง รูปทรงเรียบง่าย หลังคาจั่วมีหน้าต่างบานเล็ก ๆ
ภาพที่ 2.5-3 เรือนไทยภาคอีสาน
4. เรือนไทยภาคใต้
เรือนไทยภาคใต้ เป็นเรือนยกพื้นสูงเช่นเดียวกับเรือนไทยภาคอื่น ๆ แต่เนื่องจากภาคใต้มีฤดูฝนที่ยาวนาน ดังนั้น จึงนิยมเอาท่อนไม้ หิน หรือปูนหล่อเป็นฐานรองรับเสาไม้ โดยไม่ยึดติดระหว่างเสา และฐานให้มั่นคงแข็งแรง และนำไม้มาร้อยทะลุเสาเรือนทุกด้านตามแนวยาวเพื่อความมั่นคงแบ่งออกเป็น
4.1 เรือนไทยพุทธ เรือนมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก หลังคาจั่ว และไม่ยกพื้นสูงขนาดให้คนเดินลอดได้สะดวก นิยมมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
4.2 เรือนไทยมุสลิม เป็นเรือนที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมพื้นบ้าน และวัฒนธรรมอิสลาม หลังคานิยมสร้างเป็นทรงจั่ว ทรงปั้นหยา หรือทรงมนิลา
ภาพที่ 2.5-4 เรือนไทยภาคใต้