4.4 วัสดุ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า
1. เส้นใย
คนไทยรู้จักนำเส้นใยของพืช เช่น ฝ้าย ป่าน ปอกระเจา เปลือกกัญชง มาทอเป็นผืนผ้า แต่เส้นใยที่นิยมทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม คือ ฝ้าย ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถดูดความชื้น ระบายความร้อนได้ดี ยังมีความทนทาน จึงเหมาะสมกับภูมิอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย เส้นใยอีกประเภทหนึ่ง คือ ใยไหม มีความมันวาวเบาบาง ส่วนใหญ่เป็นผ้าสำหรับชนชั้นสูง หรือใช้เฉพาะงานพิธีสำคัญ
ภาพที่ 4.4-1 งานหัตถกรรมผ้าไหมไทย
2. อุปกรณ์
อุปกรณ์การทำเส้นใยฝ้าย เช่น คัดแยกเม็ดออกจากปุย ทำให้ฝ้ายพองฟู ปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย ส่วนอุปกรณ์การทำใยไหม ได้แก่ กระด้งเลี้ยงหนอนไหม หม้อต้มรังไหม อุปกรณ์สาวไหม และปั่นเป็นเส้น อุปกรณ์ที่สำคัญ คือ เครื่องทอ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ กี่เอว และกี่แบบมีขาตั้ง นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการทออีกหลายอย่าง
ภาพที่ 4.4-2 อุปกรณ์การทำเส้นใยฝ้าย
ภาพที่ 4.4-3 อุปกรณ์ทำเส้นใยฝ้าย
3. การย้อมสี
เทคนิคการย้อมสี เป็นการนำวัสดุตามธรรมชาติที่ให้สี เช่น สีจากส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้น และสมุนไพร การย้อมสีแสดงถึงภูมิปัญญาระดับสูงที่ผ่านการคิดค้น ทดลองอยู่หลายขั้นตอน ตั้งแต่การหาแหล่งสี การย้อมให้ได้สีตามต้องการ และติดคงทน พืชที่ใช้ในการย้อมจนได้สีต่าง ๆ เช่น สีแดง ได้จากครั่ง, รากยอ สีเหลือง ได้จากแก่นขนุน และขมิ้น สีดำ ได้จากผลมะเกลือ สีม่วง ได้จากผลหว้าสุก สีชมพู ได้จากเหลือกต้นฝาง เป็นต้น
ภาพที่ 4.4-4 งานหัตถกรรมย้อมสีผ้าไหม
ภาพที่ 4.4-5 ภูมิปัญญาพัฒนาสีธรรมชาติในการย้อมผ้าไหม
4. เทคนิคการทอ
เทคนิคการทอ ทอขัด ผ้าที่ทอแบบนี้ คือ ผ้าขาวม้า, มัดหมี่ เป็นเทคนิคที่มีการทอมานานและแพร่หลายในหลายประเทศ, ขิด เป็นการสร้างลวดลายขณะทอผ้าบนกี่ ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ในครัวเรือนและเพื่อศาสนา, ยก มีเทคนิคคล้ายกับการขิดและสอดเส้นด้ายพิเศษ เกิดเป็นผ้ายกทอง ยกเงิน และยกมุก, เกาะ/ล้วง เช่น ผ้าลายน้ำไหล ของ จ.น่าน การควบเส้น เช่น ผ้าหางกระรอก
ภาพที่ 4.4-6 เทคนิคการทอผ้า
ภาพที่ 4.4-7 เทคนิคการทอผ้าสมัยโบราณ